วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศักยะที่เป็นไปได้



เราจำเป็นต้องเป็นตัวเราตลอดเวลาไหม?

นี่คือคำถามที่พี่สาวพยาบาลทหารคนหนึ่งถามขึ้นระหว่างที่เธอกำลัง check-in เข้าสู่วงสนทนา Dialogue Oasis1 เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องมันมีอยู่ว่า ช่วงที่ผ่านมา จากที่เธอ (ขอเรียกว่า พี่ M เพื่อให้เข้าใจตรงกันก็แล้วกัน เพราะจะมีตัวละครอีกหลายคน) เคยทำงานเป็นพยาบาลในด้านกึ่งๆ HR - OD มานาน เธอกลับต้องกลายมาเป็นนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากอายุงานในสายทหารเข้าเกณฑ์ โดยทุกๆ บ่ายจะมีการจัดกระบวนการกลุ่ม และทุกๆ คนในกลุ่มนักเรียนประมาณ 10 กว่าคนจะต้องหมุนเวียนพลัดเปลี่ยนกันมาเป็นผู้นำกลุ่มและดำเนินการประชุมให้สำเร็จลุล่วง แน่นอนว่าทุกอย่างอยู่ในสายตาของผู้ประเมินซึ่งเธอเรียกว่า Commentator เลียนแบบรายการตามล่าหาดาวอย่างไรอย่างนั้น ;-P

เธอถามคำถามนี้กับตัวเองในค่ำคืนหลังจากที่เธอเป็นผู้นำประชุมเมื่อบ่ายวันนั้น และถูก Commentator กระหน่ำคอมเมนท์ประหนึ่งหวดไม้ลงมาที่เธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า “กะว่าจะเอาให้ลงไปกองตรงนั้นให้ได้เลยกระมัง” เธอกล่าว เพื่อนในกลุ่มจำนวนหนึ่งถึงกับเข้ามาจับมือตบไหล่และให้กำลังใจเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งๆที่เธอเพียงแสดงเป็นตัวของเธอเองน่ะหรือ - ผู้ประเมินถึงกระหน่ำเธอเช่นนี้? ถ้าเช่นนั้นเธอควรจะทำเช่นไรดี?

วันถัดมา พี่ M แสร้งทำเป็นซึมแต่เช้า และเพื่อให้สมบทบาท ก็ถึงกับกรอกยาแก้ปวดหัวต่อหน้าเพื่อนฝูงเสียด้วย เมื่อเข้ากระบวนการกลุ่มในตอนบ่ายเพื่อนๆ จะได้ไม่ประหลาดใจว่าเธอแปลกไป เพราะวันนี้เธอจะเป็นคนปวดหัว ซึม เซื่อง และนำประชุมไม่ได้เรื่องไงล่ะ! ผลที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความคาดหมาย เพื่อนๆและวงประชุมเซื่องซึมตามเธอไปตามๆกัน ยังไม่นับ Commentator ผู้เดิมที่ไม่อาจหวดไม้ตะบองที่เตรียมมาได้…

นี่อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ที่เธอต้องเผชิญให้ก้าวผ่านมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่กระนั้น ฉันกลับฟันธงไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้อยู่ในใจเงียบๆ

-----

ตอนบ่ายหลังจากโอเอซิสนัดนี้จบลง ฉันเดินไปทานข้าวกับพี่สาวสองคนในห้างสรรพสินค้าใกล้ๆนั้น บนโต๊ะทานอาหารเราก็ยังพูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละคนกันต่อ พี่สาวคนหนึ่งพูดเชิงสรุปความเห็นของตนเองเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทที่ต้องกระตุ้นและฟูมฟักการเติบโตให้แก่พนักงานในความดูแลว่า

“ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง คนที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเองเหล่านี้มีเป็นส่วนน้อย เราจึงยังต้องกระตุ้น ชักจูง ให้รางวัลคนส่วนใหญ่ให้กระตือรือร้นขึ้นมา” และความไม่พอใจระคนกับความรู้สึกไม่เห็นด้วยก็เกิดขึ้นในใจฉันอีกครั้ง ถัดจากนั้นคือภาพสมัยชั้นเรียน NREM, EETP และ IA2B2 ก็ผุดตามขึ้นมาทันที (คุณพระช่วย ใจเรามันเร็วจริงๆ)

~โฉมหน้าฉันและเพื่อนๆ ร่วมคลาส EETP~

-----

“เป็นตัวของตัวเอง ตัวเองถูกเสมอ ทุกคนต้องหมุนรอบฉัน” ฉันไม่ได้หมายความถึงความเป็นตัวของตัวเองแบบนี้ เช่นเดียวกัน หรือหากตอบคำถามของพี่ M ด้วย Voice Dialogue หรือที่กลุ่มวงน้ำชาเรียกกันว่า สนทนากับเสียงภายใน นั้น ก็คงจะตอบได้ไม่ยาก3 แต่ภาพตัวฉันและเพื่อนๆ ขณะวิ่งเล่นอยู่ในชั้นเรียนเหล่านั้น ทำให้ฉันฉุกคิดถึง ความเป็นตัวของตัวเอง ในอีกแง่มุมหนึ่ง แง่มุมที่เรียกว่า ศักยภาพดั้งเดิม หรือศักยภาพเดิมแท้ ที่มนุษย์แต่ละคนมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด

เฉพาะแค่เพื่อนร่วมรุ่นจำนวนไม่เกิน 10 ชีวิต ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา NREM และ EETP ในขณะที่เป็น น.ศ. ปี3ด้วยกันเป็นเวลา 1 ปีนั้น หากเปรียบเทียบก่อนและหลังเรียนวิชาเหล่านี้ ก็พบว่า การเติบโตของ “ตัวตน” แต่ละคนช่างสวยงามเหลือเกิน

“เหมือนแต่ละคนเป็นต้นไม้ ที่วันนี้ออกดอกออกมาอย่างสวยงาม” คือคำกล่าวของหนึ่งในเพื่อนร่วมชั้น เปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นการนำเสนอโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่แต่ละคนเลือกตั้งแต่หัวข้อ(อย่างยากเย็น)ตั้งแต่วันแรกของคลาส

ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ยุยงส่งเสริมให้แต่ละคนเลือกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่มีการทำโทษหรือตำหนิอย่างฉับพลันทันที เช่น หากมาเข้าเรียนไม่ทันเวลา หรือไม่ส่ง assignment/สมุดบันทึกในวันที่กำหนดให้ส่ง หรือไม่ได้ทำการบ้าน/ศึกษาเอกสารที่จะนำมาพูดคุยกันในชั้นเรียนวันนั้น อาจารย์ก็จะเพียงแต่ยิ้ม ไม่ดุด่าแต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลย ในวันที่มีกรณีเหล่านี้ เราจึงได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองในสิ่งที่ไม่มีใครเคยสอน(หรืออาจสอนได้)จากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

ในวิชาที่สอง, EETP หรือ สิ่งแวดล้อมศึกษา, หัวใจหลักคือเราแต่ละคนจะต้องเขียน Proposal โครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาส่งในวันสุดท้ายของชั้นเรียนคนละ 1 เล่ม 1 เรื่อง ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น แต่ระหว่างนั้นฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับตัวฉันเอง ตั้งแต่การเลือกหัวข้อของตนเอง ซึ่งมันอาจใช้เวลาไปมากมายก็จริง (และฉันเชื่อว่าผู้ใหญ่ส่วนมากก็คงอึดอัด รำคาญความยืดยาด ตัดสินใจไม่ได้ของพวกฉันและคิดหาหัวข้อ เลือกให้เสร็จสรรพ ยัดใส่มือแต่ละคนพร้อมไล่ไปทำอย่างแน่นอน) แต่กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในความคิดของฉัน พวกเราได้ค่อยๆสำรวจว่าในโลกใบนี้ อะไรคือสิ่งที่เราสนใจ? อะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่า? เราจะเลือกหัวข้อที่ยากลำบากแต่ท้าทายความสามารถและจริงแท้กับความรู้สึกของตัว หรือจะเลือกหัวข้อพื้นๆเพลนๆทำให้เสร็จได้ง่ายๆ เพียงแค่พอแถๆกับคนอื่นได้ว่าตัวเองก็มีความสนใจนะ เพียงแค่ขั้นตอนนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากกว่าเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยแล้วด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ในระหว่างทางพัฒนาโครงการ ฉันยังเริ่มเห็นความกลัว ขี้กังวลและลังเลขนาดบิ๊กเบิ้มอาศัยอยู่ในใจของตัวเอง แม้จะทำการบ้านค้นคว้าแหล่งข้อมูลมามากมาย ศึกษากรณีที่คล้ายคลึงกับหัวข้อที่ฉันเลือกไว้มาเยอะแยะ แต่ฉันกลับไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้เลย มีแต่ความลังเลไม่แน่ใจ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรนอกจากความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่สำเร็จ (แต่ปากก็แก้ตัวว่า ไม่รู้ขั้นตอนที่ชัดเจน :-P) ในเวลานั้น เพียงแค่คำพูดสั้นๆง่ายๆของอาจารย์ที่พูดหลังจากฉันเล่าให้ทุกคนฟังว่าฉันไปทำความรู้จักโครงการไหนมาและชอบแต่ละโครงการอย่างไร อาจารย์เพียงพูดว่า “สำหรับที่นี่4 ผมแนะนำว่าน่าไปดู” : ) เท่านั้นเองที่ฉันใจชื้นขึ้นมา ความกังวลถูกทิ้งเอาไว้ก่อน แล้วฉันก็รีบดำเนินการขอจดหมายอนุญาต วางแผนการเดินทาง และไปเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างในด้านของเสียเหลือศูนย์ภายในไม่กี่สัปดาห์

แน่นอนว่า ฉันเขียน Proposal โครงการส่งอาจารย์ในท้ายเทอมได้ด้วยดี พร้อมด้วยความรู้สึกที่ไม่ได้โกหกกับตัวเองว่าฉันเข้าใจเรื่องที่ฉันสนใจนี้มากขึ้นจริงๆ แต่สิ่งที่ฉันประทับใจไม่มีวันลืม ก็คือคำพูดที่ว่า “น่าไปดู” ที่ไม่บีบคั้น ไม่ชักจูง … เป็นเพียงคำพูด ความเห็นของอาจารย์ เปิดกว้าง … ฉันเป็นคนสุดท้ายที่จะเลือกเองว่าจะไปดูที่นี่หรือไม่ไป และฉันก็ได้ไป… ด้วยตัวเอง

สิ่งที่ฉันอยากจะบอกเล่าหลังจากที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดแล้วก็คือ ครูไม่อาจอยู่กับเราได้ตลอดไป เช่นเดียวกับพ่อแม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนด้วยกัน การช่วยเหลือด้วยการกระตุ้น หลอกล่อ ชักจูง ในภาวะเริ่มต้นคงจำเป็นต้องกระทำกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่มรรควิถีท้ายสุดแน่นอน ฉันคิดว่า เป้าหมายสูงสุดคือการให้คนแต่ละคนสามารถเหนี่ยวนำตนเองให้กระทำสิ่งใด ไม่กระทำสิ่งใด ได้ด้วยตนเองต่างหาก เพราะเมื่อนั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะล่อหลอกเขาด้วยสิ่งใด ดูน่าเชื่อถือหรือถูกต้องแค่ไหน เขาก็จะเป็นผู้เลือก ด้วยความคิดความเชื่อที่ใคร่ครวญแล้วของเตน เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเขาเอง และเขาจะกระทำสิ่งต่างๆอย่างเต็มความสามารถที่ตนมี มิใช่เพียงให้ได้เท่าที่ผู้อื่นเรียกร้องเขาให้กระทำ

จึงน่าตั้งคำถามยิ่งนัก ว่าทำไมลูกจ้างในบริษัท หรือนักเรียนในโรงเรียน จึงไร้แรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ดังที่พี่สาวในวงสนทนาไดอะลอค โอเอซิสทั้งสองคนเล่ามา?​ และบทบาทของพ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง โค้ช เพื่อช่วยให้คนเราเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งได้นั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร?

นานาจิตตัง

25 ส.ค. 52


1 Dialogue Oasis จัดทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ณ บ้านพักคริสเตียน ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

2 NREM, EETP และ IA2B ย่อมาจาก Natural Resource and Environmental Management, Environmental Education : Theory and Practice และ Interdisciplinary Approaches to Biodiversity ตามลำดับ เป็นรายชื่อวิชาเลือกของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย… มี ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ เป็นอาจารย์ผู้สอน (ซึ่งวางตัวเป็นกระบวนกรมากกว่า…)

3 สุดยอดของการเรียนรู้ด้านนี้ ตามความเห็นของฉัน คือ เป็นอะไรก็ได้ (อาจเป็นด้านที่ตรงข้ามกับตนเองด้วยซ้ำ) ที่เหมาะสมควรต่อสถานการณ์และบริบทเหล่านั้น ซึ่งอาศัยกระบวนการตื่นรู้อย่างมหาศาล (อาจคล้ายคำของอาใหญ่ที่ว่า “ตื่นโพลง” ก็เป็นได้กระมัง)

4 อย่างที่เขียนในเนื้อความแล้ว “ที่นี่” หมายถึงโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนนำร่อง"ของเสีย"เหลือศูนย์ รางวัลดีเด่นระดับประเทศ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ปี พ.ศ.2547 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://ra.zerowaste.googlepages.com/home

Related Posts with Thumbnails